ชิ้นส่วนประกอบของรถโฟล์คลิฟท์

การเรียนรู้ทำความเข้าใจชิ้นส่วนประกอบของรถโฟล์คลิฟท์ (Forklift) ที่สำคัญต่างๆ สามารถช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการขาดการดูแลชิ้นส่วนสำคัญเหล่านี้ หากมีระบบบำรุงรักษาอุปกรณ์หลักเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถใช้งานรถโฟล์คลิฟท์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยืดอายุการใช้รถฟอร์คลิฟท์ รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้

1. “Mast” เสารถยก

ความสำคัญ : ใช้สำหรับเลื่อนขึ้น-ลงเพื่อยกสินค้าขึ้นวางบนชั้นหรือยกลง

เสารถยก เป็นส่วนประกอบหลักของรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) ใช้สำหรับเลื่อนขึ้น-ลงเพื่อยกสินค้าวางบนชั้น โดยเสารถยกแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

Wide visible mast (V) เป็นเสาที่นิยมใช้ทั่วไป ซึ่งมีระยะฟรีลิฟท์* (Free Lift) อยู่ที่ประมาณ 100-150 มิลลิเมตร
Wide visible semi-free mast (SV) มีเฉพาะรถ Reach Truck (รถยกไฟ้ฟ้าแบบยืนขับ) เป็นโครงสร้างเหมือนเสารถยกแบบ V แต่จะมีระยะฟรีลิฟท์ที่มากกว่า โดยสามารถยกได้สูงจากพื้นประมาณ 400 มิลลิเมตร
Full free-lift two-stage mast (FV) เป็นเสา 2 ท่อนแบบมีฟรีลิฟท์ โดยรถยกที่มีเสาแบบ FV จะมี
กระบอกไฮดรอลิคอยู่ตรงกลางระหว่างเสาทั้ง 2 ข้าง เสาประเภทนี้เหมาะสำหรับใช้งานภายในตู้คอนเทนเนอร์
Full free-lift three-stage mast (FSV) เป็นเสา 3 ท่อนแบบมีฟรีลิฟท์ เป็นเสาที่มีความสูงของหัวเสาต่ำ แต่สามารถยกได้สูงมากกว่าเสา 2 ท่อน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีทางเข้าที่ต่ำ แต่ต้องใช้ยกสินค้าเก็บบนชั้นวางที่สูงมาก

*Free Lift (ระยะฟรีลิฟท์) คือ ระยะเสายกขึ้นโดยที่หัวเสาไม่ยกตาม
2. “Head Guard” โครงป้องกันศีรษะ

ความสำคัญ : เป็นโครงเหล็กที่มีความแข็งแรงสูง เพื่อป้องกันคนขับรถฟอร์คลิฟท์ในกรณีที่มีวัตถุตกหล่นใส่ห้องควบคุม และยังช่วยเพิ่มมุมมองด้านบนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเมื่อต้องวางสินค้าบนชั้นที่สูงให้มองเห็นชั้นวางได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
3. “Tilt Cylinder” กระบอกคว่ำ-หงาย

ความสำคัญ : เป็นกระบอกไฮดรอลิกสำหรับช่วยให้เสาเอียงหน้า-หลังได้ตามองศาที่เหมาะสมสำหรับการยกขึ้น-ลงเพื่อวางสินค้า ควรหมั่นบำรุงรักษากระบอกไฮดรอลิกให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

4. “Chain” โซ่ยก

ความสำคัญ : โซ่ยก มีความสำคัญอย่างยิ่งในการยกวางสินค้า โดยโซ่ยกนี้จะทำงานร่วมกับกระบอกไฮดรอลิคยกเพื่อยกงาเมื่อต้องการให้สินค้าที่โหลดยกขึ้น เนื่องจากโซ่ยกนั้นมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ จึงควรบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

5. “Fork” งา

ความสำคัญ : เป็นส่วนที่ยื่นออกมาทางด้านหน้าของรถฟอร์คลิฟท์สำหรับนำสินค้ามาวางไว้ด้านบนชิ้นส่วนนี้ และจะเป็นส่วนที่ใช้สอดเข้าไปใต้พาเลทเพื่อยกสินค้าขึ้นหรือเคลื่อนย้าย จึงควรเลือกความยาวงาที่เหมาะสมกับการใช้งานและขนาดของสินค้าที่ต้องการยก ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการร่วงหล่นของสินค้าขณะขนย้ายได้อีกด้วย

6. “Front-wheel” ล้อหน้า

ความสำคัญ : ล้อหน้าของรถฟอร์คลิฟท์มีหน้าที่ 3 อย่าง คือ

ใช้รับน้ำหนักบรรทุก
ใช้ขับเคลื่อนรถฟอร์คลิฟท์
ใช้ในการเบรกล้อของรถ Reach Truck (รถยกไฟฟ้าแบบยืนขับ)

โดยการออกแบบล้อหน้าของรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) จะมีขนาดใหญ่กว่าล้อหลัง และมีความแข็งแรงสูง เนื่องจากหน้าที่ในการรับน้ำหนักบรรทุก การบำรุงรักษาดูแลในส่วนนี้ไม่ยากนัก และสามารถดูแลเป็นระยะโดยกำหนดเป็นรอบต่อเดือนหรือรอบจำนวนชั่วโมงการใช้งาน โดยจะกำหนดระยะบำรุงรักษาเป็นแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน

7. “Rear-wheel” ล้อหลัง

ความสำคัญ : ล้อหลังของรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) มีหน้าที่ในการบังคับทิศทาง

แม้ล้อหลังของรถฟอร์คลิฟท์ (Forklift) จะมีหน้าที่อย่างเดียวคือการบังคับทิศทาง แต่นับเป็นหน้าที่สำคัญที่สุด เนื่องจากคลังสินค้าอาจมีพื้นที่จำกัด ความแม่นยำในการบังคับเลี้ยวจึงสำคัญอย่างมาก เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน พนักงานขับรถจึงควรมีความเชี่ยวชาญในการควบคุมบังคับรถ และควรตรวจสอบดูแลบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

8. “Load backrest” ที่พิงสินค้าขณะโหลด

ความสำคัญ : ที่พิงสินค้าขณะโหลด เป็นตัวช่วยสินค้าให้วางบนงาได้มั่นคงมากขึ้น โดยในขณะที่ยกงาขึ้นและเอียงงาไปด้านหลัง สินค้าจะถูกดันไปติดกับที่พิงสินค้า จึงเป็นการช่วยให้สินค้าวางได้มั่นคงไม่ร่วงหล่นขณะยกงาหรือเคลื่อนย้าย