เรื่องที่ต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มลงทุนแฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาท

ตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์, เงินทุนสำรองในการใช้จ่ายระหว่างรอคืนทุน, การเลือกทำเลในการตั้งร้าน, การจัดร้านและแบ่งโซนสินค้าเพื่อเรียกลูกค้า, การบริหารสต็อกสินค้า, การทำบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน และระยะเวลาในการคืนทุน รวมไปถึงแนะนำแฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาทที่ได้มาตรฐาน ระบบจัดการยอดเยี่ยม ให้คนที่สนใจลงทุนสามารถเลือกหาข้อมูลเพิ่มได้อีกด้วย

1. ค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาท

การลงทุนเริ่มทำธุรกิจด้วยการซื้อแฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาท มีความสะดวกตรงที่ไม่ต้องเริ่มทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะทางเจ้าของแฟรนไชส์จะเตรียมการทุกอย่างไว้ให้ เพียงแค่เลือกแพ็กเกจขนาดแฟรนไชส์ที่ต้องการลงทุน มีพื้นที่ในการทำร้าน เพียงเท่านี้ก็พร้อมเปิดร้านได้เลย

ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีขนาดและราคาที่แตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน หรือบางเจ้าก็มีแพ็กเกจเฉพาะการขายส่งสินค้าไม่นับรวมระบบต่างๆ

2. ต้องมีเงินทุนสำรองไว้หมุนเวียนกิจการทุกอย่าง 20 บาท

ถึงแม้ว่าการซื้อแฟรนไชส์นั้นจะมีสินค้าสำหรับพร้อมขายมาให้เรียบร้อย แต่ก็ให้มาในจำนวนที่ไม่มากนัก เมื่อสินค้าขายดี หรือเริ่มขาดสต็อกก็ต้องมีการสั่งซื้อเพิ่มและยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าเช่าที่ จึงควรต้องมีเงินก้อนสำรองไว้สำหรับหมุนเวียนในการใช้จ่ายภายในร้านอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อรอระยะเวลาในการคืนทุนของร้าน

3. การเลือกทำเลในการเปิดร้านทุกอย่าง 20 บาท

การเลือกทำเลเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรเลือกทำเลที่มีคนพลุกพล่าน อยู่ใกล้แหล่งชุมชน หรือแหล่งค้าขาย อีกทั้งการเลือกทำเลอาจจะทำให้สามารถประเมินได้ว่าควรนำสินค้าชนิดไหนเข้ามาขายเพื่อเรียกลูกค้า เช่น อยู่ใกล้ตลาดหรือพื้นที่ค้าขายก็ควรจะมีสินค้าประเภทของใช้เบ็ดเตล็ดเยอะ อยู่ใกล้สถานศึกษาก็ควรจะมีสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนเยอะ

4. จัดร้านทุกอย่าง 20 บาทให้น่าสนใจ มีชัยไปกว่าครึ่ง

การจัดร้านให้น่าสนใจจะสามารถช่วยเรียกลูกค้าได้เป็นอย่างดี ควรมีการแบ่งหมวดหมู่หรือโซนของสินค้าให้ชัดเจน มีป้ายบอกโซนของสินค้าให้ชัด และควรจัดให้สินค้าหมวดหมู่ที่ใกล้เคียงกันอยู่ข้างกัน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการซื้อหลายๆ อย่างเช่น จัดสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนให้อยู่ใกล้กับสินค้าประเภทไอที เพราะนักเรียน นักศึกษา มักจะมีความสนใจในไอที อาจจะทำให้เกิดแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าไอทีมากกว่าลูกค้ากลุ่มอื่น

5. รู้จักการบริหารสต็อกสินค้า ลดการสต็อกไว้แล้วขายไม่ออก

การบริหารสต็อกสินค้าเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรรู้ก่อนเปิดร้าน เพราะสินค้าที่ขายในร้านทุกอย่าง 20 บาทนั้น มีทั้งสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าที่ตามกระแสตามเทรนด์ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ต้องดูว่าสินค้าไหนที่ขายดี ขายได้ทุกวัน อาจจะต้องสต็อกไว้จำนวนมากเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าหมด สินค้าไหนที่เป็นสินค้าที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อใช้บ่อยๆ ก็อาจจะสต็อกจำนวนน้อยลงมา และถ้ามีสินค้าไหนที่กำลังเป็นกระแสหรือได้รับความนิยมก็ควรสั่งมาขาย เพราะการทำแบบนี้จะทำให้ลูกค้าไม่เบื่อ และดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้านอยู่ตลอด

6. ร้านทุกอย่าง 20 บาทต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจ ถึงแม้จะเป็นเจ้าของร้าน ไม่ได้มีลูกจ้าง แต่ก็ควรต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน ควรกำหนดเงินเดือนค่าจ้างให้ตัวเองด้วย เพื่อที่สิ้นเดือนจะได้สามารถสรุปยอดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ครบถ้วน การทำแบบนี้จะทำให้สามารถมองเห็นยอดเงินที่หมุนเวียนในร้านได้ชัดเจน และช่วยทำให้สามารถคำนวณระยะเวลาการคืนทุนก็ร้านได้ด้วย

7. ระยะเวลาในการคืนทุน และสร้างกำไรของร้านทุกอย่าง 20 บาท

ระยะเวลาในการคืนทุนและสร้างกำไรของร้านทุกอย่าง 20 บาทนั้นอยู่ที่ระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ามีการลงทุนไปจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าลงทุนไม่มากนักและสามารถขายได้ค่อนข้างดี ระยะเวลา 6 เดือนก็อาจจะสามารถคืนทุนได้ ถ้าลงทุนหลายแสนหรือถึงหลักล้าน ระยะเวลาในการคืนทุนก็อาจจะยืดออกไปอีกอาจจะนานถึง 1 ปีเลยทีเดียว แต่อย่าลืมว่าการคืนทุนและสร้างกำไรก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งทำเลที่ตั้ง ประเภทของสินค้า

ร้านทุกอย่าง 20 บาท ทางเลือกยุคของแพง

ร้านทุกอย่าง 20 บาท ทางเลือกยุคของแพง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าร้านทุกอย่าง 20 บาท กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่กลับกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อมีผู้ซื้อร้องต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เกี่ยวกับคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จนเป็นเหตุของกระแสข่าวการสั่งปิดร้าน 20 บาท

ในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า ร้านค้าต่างๆก็พยายามหาช่องทางใหม่ๆในการค้าขาย เพื่อให้สอดรับกับสังคมในยุคนี้มากขึ้น ร้านขายสินค้าทุกอย่าง 20 บาทของไทย เป็นการนำไอเดียมาจากร้าน 100 เยน และร้านไดโซะ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะร้านไดโซะ ขายของทุกอย่างราคา 60บาท เข้ามาเปิดร้านในไทยนานกว่า 10 ปีแล้ว

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ.ต้องออกมาแก้ข่าวว่า ทาง สมอ.ไม่ได้มีมาตรการสั่งปิดร้าน 20 บาทแน่นอน แต่เมื่อมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา ทาง สมอ.ก็ต้องตรวจสอบคุณภาพสินค้า

โดยกลุ่มที่ร้องเรียนมี 2 กลุ่มคือ ร้องเรียนเรื่องคุณภาพสินค้า และอีกกลุ่มร้องเรียนเรื่อง เครื่องหมาย มอก. ทำให้ สมอ. ต้องเรียกผู้ค้าส่ง และเจ้าของแฟรนไชส์ มาขอความร่วมมือ รวมถึงแฟรนไชส์ดังจากญี่ปุ่นอย่าง ไดโซะ ที่ขายทุกอย่าง 60 บาทด้วย เพื่อให้ควบคุมสินค้าบางชนิดที่เป็นสินค้าบังคับต้องมีเครื่องหมาย มอก.

สำหรับสินค้า 8 ประเภทที่ต้องมี มอก. คือ ผงซักฟอก, ไม้ขีดไฟ,ของเล่น, ไฟแช็คก๊าซ,หัวนมยางดูดเล่น, ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร, แอลกฮอล์แข็งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงและสีเทียน โดยสินค้าที่ มอก.มาตรวจ และยึดสินค้ามากที่สุดจะเป็นกลุ่มของเล่นเด็ก

เลขาธิการ สมอ. บอกว่า สินค้า 8 ประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะพบในร้านเหล่านี้ที่เน้นปริมาณความหลากหลายของสินค้า ทำให้อาจจะมองข้ามคุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้าบางชนิดไป

สำหรับที่มาของสินค้าที่นำมาขายในร้านทุกอย่าง 20 บาทนั้น จากการสอบถามโกดังขายส่งรายใหญ่ในจังหวัดนครปฐม ก็ได้รับคำตอบว่า ส่วนใหญ่ลงเรือมาจากจีน มีสินค้าหมุนเวียนกว่า 5000-10,000 รายการ จากนั้นจะมีร้านค้ารายย่อยมารับซื้อ ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 15-17 บาทหรือถ้าเหมาโหลจะอยู่ที่ 180 บาท นั่นหมายความว่าสินค้าต่อชิ้นคนขายได้กำไร 3-5 บาท

นอกจากร้านพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อไปขายเองแล้ว ธุรกิจนี้ยังมีการขายในรูปแบบ แฟรนไชส์ ด้วย ซึ่งตามข้อมูลของ สมอ. พบว่า เจ้าของแฟรนไชส์ 1 ราย จะมีเครือข่ายสาขาประมาณ 500 สาขาทั่วประเทศ โดยมีค่าสมัครแฟรนไชส์ อยู่ที่ 3-5 หมื่นบาท เงินลงทุน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท พร้อมส่งสินค้าติดตั้งป้าย รูปแบบร้านและอุปกรณ์การขายให้ทั้งหมด

เขาบอกด้วยว่า สาเหตุที่ร้าน 20 บาท เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่แคร์คุณภาพมากนักเน้นที่สามารถใช้งานได้ มีราคาถูกกว่าในห้างสรรพสินค้า ก็ตัดสินใจซื้อแล้ว

ต้องยอมรับว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาแบบนี้การซื้อของในราคาถูกก็เป็นทางหนึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้